หลักการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์
ผู้เขียน : เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล
ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์ นอกจากความสวยงาม น่าสนใจแล้ว สิ่งที่หลายคนลืม ไม่เคยนึกถึง หรือ อาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ว่าจะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เข้ามาร่วมด้วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์ด้วย
ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กำหนดกลุ่มเป้าหมาย
เป็นเรื่องแรก ๆ ที่เราควรต้องรู้ว่าสินค้าของเราเหมาะกับใคร ผู้ประกอบการต้องเข้าใจความต้องการของตลาด ความต้องการของผู้บริโภค โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์ให้ตรงต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด เช่น วัย เพศ อายุ ที่อยู่อาศัย ลักษณะความชอบ ความต้องการในการใช้สินค้า
การกำหนดกลุ่มเป้าหมายนอกจากคำนึงถึงตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว เรียกว่ากลุ่มเป้าหมายโดยตรง เรายังต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ซื้อแต่ไม่ได้บริโภคเองด้วย เช่น ของฝาก อาหารเด็ก น้ำหอม เครื่องประดับ โดยผู้ซื้ออาจจะไม่ได้นำไปบริโภคเองแต่ซื้อเพราะนำไปให้คนอื่น ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ต้องรวมเข้าไปในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายด้วย
2. กำหนดชื่อตราสินค้า
ชื่อสินค้าก็เปรียบเหมือน “ชื่อคน” หากกำหนดให้เรียกยากเกินไปก็ไม่เกิดการจดจำเพราะจำยาก หากกำหนดให้เขียนยาก-สะกดยากก็ไม่เกิดการจดจำอีกเช่นกัน
ส่วนมากผู้ประกอบการมักจะนำชื่อบริษัท สถานที่ตั้ง ชื่อจดทะเบียน ชื่อตนเอง ชื่อที่เป็นมงคล คำอื่น ๆ ที่นำมาผสมกันให้เกิดคำ หรือเกิดชื่อที่เป็นมงคล ฯลฯ
ดังนั้นหลักการที่ควรจำในการกำหนดชื่อตราสินค้าควรเป็นดังนี้
- จดจำง่าย อ่านง่าย เขียนง่าย
- มีเอกลักษณ์ โดดเด่น
- ไม่พยายามลอกเลียนแบรนด์อื่น หรือ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
- บอกถึงคุณสมบัติสินค้า
- ไม่เป็นคำที่ชวนให้เข้าใจผิดไปจากคุณสมบัติสินค้า
- จดทะเบียนได้ โดยไม่ซ้ำกับแบรนด์อื่น
เหล่านี้ล้วนเป็นหลักการคร่าว ๆ ของการกำหนดชื่อตราสินค้า โดยนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม
3. วัสดุที่ใช้ผลิตในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์
วัสดุมีความสำคัญในแง่ของความแข็งแรงในการขนส่ง สร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ ปกป้องผลิตภัณฑ์ไม่ให้เกิดความเสียหาย
ดังนั้นวัสดุจึงมีความสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์เป็นอย่างมาก ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทุกๆด้านที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของเรา เช่น มิตรต่อผู้ใช้ และ สิ่งแวดล้อม รีไซเคิลได้ ย่อยสลายได้ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ผลิตจากธรรมชาติ กันน้ำ แข็งแรง คุณภาพสูงต้นทุนต่ำ ฯลฯ
4. รูปทรงลักษณะบรรจุของบรรจุภัณฑ์
นอกจากความสวยงามแล้ว ควรคำนึงถึงความคงทนในการขนส่ง ภาพลักษณ์ของสินค้า การสร้างความน่าสนใจ ง่ายต่อการใช้งาน มีเอกลักษณ์แต่สามารถใช้งานได้จริง
5. การออกแบบกราฟิก
เราลองนึกถึงเวลาเราเลือกผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งในตลาดดูสิครับ สินค้าออกใหม่เหมือนกัน ชนิดเดียวกัน ประเภทเดียวกัน ราคาเท่ากัน วางอยู่ในชั้นขายสินค้าอันเดียวกัน อะไรคือเหตุผลว่าเราจะหยิบสินค้าชิ้นไหน
หากยังจำบทความ “สีกับจิตวิทยาในการจูงใจลูกค้า” (หรือยังไม่ได้อ่าน คลิก) จะเห็นได้ว่าปัจจัยในการเลือกสินค้าของผู้บริโภคมักใช้ “อารมณ์” ในการเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกสินค้าชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ดังนั้นการออกแบบกราฟิกจึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสม การสื่ออารมณ์ เนื้อเรื่อง เนื้อหา การรับรู้ ลวดลาย การใช้ตัวอักษร ที่มาของผลิตภัณฑ รายละเอียดต่าง ๆ ของประเภทผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใส่ลงไปด้วย